การซื้อบ้านนับเป็นก้าวสำคัญของใครหลายคน นอกจากเรื่องของราคาแล้ว ความสบายใจในการอยู่อาศัยก็นับเป็นสิ่งที่ต้องใส่ใจเป็นอย่างมากจึงต้องมีการตรวจบ้านก่อนโอนอย่างถี่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างของตัวบ้าน การตกแต่งภายใน ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ รวมไปถึงเอกสารที่แสดงความเป็นกรรมสิทธิ์ของเราก็ต้องเรียบร้อยด้วยเช่นกัน วันนี้ ProperMu จะมาแนะนำกับลิสต์ที่ควรตรวจเช็กบ้านก่อนโอนมาเป็นชื่อของเรา ติดตามสาระสำคัญได้ในบทความนี้เลย .
ความสำคัญของการตรวจบ้านก่อนโอน
การตรวจบ้านก่อนโอน เป็นขั้นตอนที่ช่วยตรวจสอบความเรียบร้อยทั้งหมดของตัวบ้าน เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งการตรวจสอบอย่างละเอียดจะช่วยระบุปัญหาหรือข้อบกพร่องต่าง ๆ ก่อนที่จะมีการโอนกรรมสิทธิ์ เพื่อให้เราสามารถเจรจาต่อรองกับผู้ขายหรือผู้พัฒนาโครงการให้แก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ทันที โดยเฉพาะการซื้อบ้านมือสองจะทำให้เราเข้าใจสภาพโดยรวมของบ้านอย่างแท้จริง นับเป็นการสร้างความมั่นใจว่าเงินที่ลงทุนไปกับบ้านหลังนี้คุ้มค่าและได้รับบ้านที่มีคุณภาพตรงตามที่ตกลงกันไว้
ตรวจบ้านก่อนโอน ต้องดูอะไรบ้าง
การตรวจบ้านก่อนโอนจะต้องเช็กตามจุดสำคัญต่าง ๆ โดยไล่ตั้งแต่โครงสร้างของตัวบ้าน พื้นที่ใช้สอย พื้นและผนัง ไปจนถึงระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ใช้งานได้เต็มที่หรือบกพร่องตรงไหนบ้าง โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. โครงสร้างบ้าน
โครงสร้างบ้านเป็นส่วนแรกสุดที่ต้องตรวจสอบ เพราะเป็นรากฐานของความแข็งแรงและความปลอดภัยของบ้านทั้งหลัง ในการตรวจสอบโครงสร้าง ควรเริ่มจากการสังเกตรอยแตกร้าวบนผนัง พื้น หรือเสา โดยเฉพาะรอยแตกที่มีลักษณะเป็นแนวทแยงหรือรอยแตกที่กว้างกว่า 3 มิลลิเมตร ซึ่งอาจบ่งชี้ถึงปัญหาโครงสร้าง จากนั้นให้สังเกตการทรุดตัวของพื้นโดยใช้อุปกรณ์ที่วัดระดับน้ำ เพื่อดูว่าพื้นเรียบและได้ระดับหรือไม่ การตรวจสอบโครงสร้างอย่างละเอียดจะช่วยให้เรามั่นใจได้ว่าบ้านมีความแข็งแรงและปลอดภัยในระยะยาว
2. พื้นที่ด้านนอก
พื้นที่ด้านนอกบ้านเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เริ่มจากการเดินสำรวจรอบๆ บ้านเพื่อตรวจสอบสภาพของผนังภายนอก มองหารอยแตกร้าว การหลุดลอกของสี หรือความเสียหายอื่นๆ ที่อาจเกิดจากสภาพอากาศหรือแมลง ตรวจสอบระบบระบายน้ำรอบบ้าน ต้องไม่มีการอุดตันหรือเสียหาย พร้อมเช็กรั้วบ้านและประตูรั้วว่าอยู่ในสภาพดี มั่นคงแข็งแรง และสามารถล็อกได้อย่างปลอดภัย
3. หลังคา
หลังคาเป็นส่วนที่ช่วยปกป้องบ้านจากสภาพอากาศภายนอก การตรวจสอบหลังคาควรเริ่มจากการสังเกตจากภายนอกว่ามีกระเบื้องหรือวัสดุมุงหลังคาที่เสียหาย หลุด หรือบิดเบี้ยวหรือไม่ จากนั้นควรตรวจสอบบริเวณใต้โถงหลังคา มองหาร่องรอยการรั่วซึม คราบน้ำ หรือความชื้นบนเพดาน สังเกตสภาพของโครงสร้างหลังคาว่ามีการผุกร่อนหรือเสียหายจดไหนบ้าง นอกจากนี้ให้ลองดูว่าโถงใต้หลังคาระบายอากาศได้ดีหรือไม่ เพราะการระบายอากาศที่ดีจะช่วยป้องกันความชื้นและความร้อนสะสมเข้าสู่ตัวบ้าน
4. พื้นและผนัง
พื้นและผนัง เป็นส่วนที่ใช้ชี้วัดคุณภาพการก่อสร้างได้อย่างชัดเจน ให้สังเกตความเรียบเนียนของพื้นผิว โดยใช้ไฟฉายส่องตามแนวพื้นและผนังเพื่อดูความไม่สม่ำเสมอ ตรวจสอบรอยแตกร้าวบนผนัง โดยเฉพาะบริเวณมุมห้องและรอบวงกบประตูหน้าต่าง ซึ่งอาจบ่งชี้ถึงปัญหาโครงสร้างหรือการทรุดตัว รวมไปถึงงานสีและการตกแต่งด้วยเช่นกัน สำหรับพื้น ให้เดินไปรอบ ๆ ห้องเพื่อสังเกตระดับของพื้นที่ว่าเท่ากันหรือไม่ โดยเฉพาะบริเวณที่ปูกระเบื้อง ให้มองหารอยแตกและการยึดเกาะของกระเบื้อง รวมถึงคุณภาพของงานยาแนวตามร่องกระเบื้อง
5. ระบบน้ำประปา
ระบบน้ำประปา เป็นระบบสาธารณูปโภคที่ขาดไม่ได้ ให้ตรวจสอบแรงดันน้ำและคุณภาพน้ำ สังเกตสีและกลิ่นของน้ำ ตรวจสอบการรั่วซึมโดยดูรอยเปียกชื้นบริเวณท่อน้ำและใต้อ่างล้างหน้า อ่างล้างจาน หรือสุขภัณฑ์ต่างๆ พร้อมทดสอบระบบระบายน้ำโดยเปิดน้ำทิ้งไว้สักครู่แล้วสังเกตว่าน้ำระบายได้เร็วแค่ไหน นอกจากนี้ต้องไปเช็กส่วนของท่อน้ำทิ้งและบ่อเกรอะต้องไม่มีกลิ่นเหม็นเล็ดลอดขึ้นมาหรือการอุดตัน
6. ระบบไฟฟ้า
ระบบไฟฟ้า อีกหนึ่งระบบที่ต้องตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนและควรมีผู้เชี่ยวชาญช่วยตรวจสอบด้วย โดยเริ่มต้นจากตู้ควบคุมไฟฟ้าหลักหรือเมนสวิตช์ ต้องได้มาตรฐานควบคุมไฟฟ้าได้ตามปกติ ทดสอบสวิตช์ไฟและเต้ารับทุกจุดในบ้าน ต้องไม่มีการช็อตหรือประกายไฟ ตรวจสอบสายไฟทุกจุดและต้องสังเกตด้วยว่ามีการติดตั้งสายดินอย่างถูกต้องหรือไม่
7. ช่องเปิด-ปิด
สุดท้ายให้เช็กช่องเปิด-ปิดภายในบ้าน เช่น ประตู หน้าต่าง ช่องระบายอากาศ และช่องแสง เริ่มทดสอบจากประตูและหน้าต่างทุกบานต้องไม่มีเสียงดังหรือติดขัด สามารถล็อกได้อย่างแน่นหนาและปลอดภัย สังเกตรอยรั่วหรือช่องว่างรอบวงกบที่อาจทำให้น้ำหรือลมเข้าบ้านได้ ตรวจสอบซีลยางรอบหน้าต่างและประตูว่าอยู่ในสภาพดี ไม่แห้งกรอบหรือหลุดลอก
บ้านคือการลงทุนครั้งสำคัญของชีวิต การตรวจบ้านก่อนโอนอย่างละเอียดก่อนรับมอบจึงเป็นกุญแจสู่ความสบายใจในระยะยาว แม้ว่าการตรวจสอบอาจดูยุ่งยากและใช้เวลา แต่ก็เป็นขั้นตอนที่ช่วยให้เราสบายใจได้ในระยะ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างของบ้าน ระบบสาธารณูปโภค และองค์ประกอบต่าง ๆ ที่จำเป็น นอกจากนี้เราจะต้องเช็กเอกสารต่าง ๆ จากผู้ขาย ไม่ว่าจะเป็นโฉนดที่ดิน ทะเบียนบ้าน และสัญญาซื้อขายให้ดี เพื่อความสะดวกในการรับโอนบ้านนั่นเอง