EP.16 5 ขั้นตอนการโอนบ้าน ณ กรมที่ดิน 2567
การโอนบ้าน คือ การโอนกรรมสิทธิ์ของบ้านจากผู้ขายมาเป็นชื่อของผู้ซื้อ โดยขั้นตอนการโอนบ้านเป็นเหมือนขั้นตอนสุดท้ายในการรับบ้านมาจากทางผู้ขาย ซึ่งต้องโอนบ้าน ณ กรมที่ดินเท่านั้น วันนี้ ProperMu จะพามาดู 5 ขั้นตอนการโอนบ้าน ณ กรมที่ดิน ในปี 2567 ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง
อย่าลืม ตรวจบ้านก่อนโอน ขั้นตอนสำคัญก่อนการโอนบ้าน
การตรวจบ้านก่อนโอน เป็นขั้นตอนที่ช่วยตรวจสอบความเรียบร้อยทั้งหมดของตัวบ้าน เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งการตรวจสอบอย่างละเอียดจะช่วยระบุปัญหาหรือข้อบกพร่องต่าง ๆ ก่อนที่จะมีการโอนบ้าน เพื่อให้เราสามารถเจรจาต่อรองกับผู้ขายหรือผู้พัฒนาโครงการให้แก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ทันที โดยเฉพาะการซื้อบ้านมือสองจะทำให้เราเข้าใจสภาพโดยรวมของบ้านอย่างแท้จริง นับเป็นการสร้างความมั่นใจว่าเงินที่ลงทุนไปกับบ้านหลังนี้คุ้มค่าและได้รับบ้านที่มีคุณภาพตรงตามที่ตกลงกันไว้
5 ขั้นตอนการโอนบ้าน ณ กรมที่ดิน ปี 2567
ผู้ขายที่ต้องการโอนบ้านและผู้ซื้อที่ต้องการรับโอนบ้านจะต้องเดินทางไปยังสำนักงานที่ดินเพื่อดำเนินขั้นตอนการโอนบ้านพร้อมที่ดินและเสียค่าธรรมเนียมของการโอนบ้าน โดยปฏิบัติตาม 5 ขั้นตอน คือ
1. แจ้งความประสงค์ต่อเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ณ กรมที่ดิน เพื่อรับบัตรคิว
เมื่อเดินทางไปถึงกรมที่ดิน ท่านจะต้องไปรับบัตรคิวกับพนักงานประชาสัมพันธ์ โดนแจ้งความประสงค์ต่อเจ้าหน้าที่ให้ชัดเจนว่าเข้ามากระทำการโอนบ้าน เจ้าหน้าที่จะให้บัตรคิวท่านและรอเรียกคิวในลำดับถัดไป
2. ตรวจสอบเอกสารสำหรับการโอนบ้าน ณ กรมที่ดิน
ในขั้นตอนการโอนบ้านผู้ซื้อและผู้ขายที่เป็นบุคคลทั่วไปต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง ไปดูกัน
- เอกสารในการโอนบ้านสำหรับบุคคลทั่วไป (สำหรับผู้ซื้อ)
บัตรประชาชน (พร้อมสำเนา 1 ชุดที่เซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง)
ทะเบียนบ้าน (พร้อมสำเนา 1 ชุดที่เซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง)
เอกสารการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (กรณีเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล)
สำเนาบัตรประชาชนคู่สมรส (กรณีสมรส)
สำเนาทะเบียนบ้านคู่สมรส (กรณีสมรส)
สำเนาทะเบียนสมรส (กรณีสมรส)
เอกสารให้ความยินยอมจากคู่สมรส (กรณีสมรส)
สำเนาทะเบียนหย่า (กรณีหย่า)
หนังสือมอบอำนาจ ทด.21 (กรณีมอบอำนาจ)
สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ (กรณีมอบอำนาจ) - เอกสารในการโอนบ้านสำหรับบุคคลทั่วไป (สำหรับผู้ขาย)
โฉนดที่ดินตัวจริง
บัตรประชาชน (พร้อมสำเนา 1 ชุดที่เซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง)
ทะเบียนบ้าน (พร้อมสำเนา 1 ชุดที่เซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง)
เอกสารการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (กรณีเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล)
สำเนาบัตรประชาชนคู่สมรส (กรณีสมรส)
สำเนาทะเบียนบ้านคู่สมรส (กรณีสมรส)
สำเนาทะเบียนสมรส (กรณีสมรส)
เอกสารให้ความยินยอมจากคู่สมรส (กรณีสมรส)
สำเนาทะเบียนหย่า (กรณีหย่า)
หนังสือมอบอำนาจ ทด.21 (กรณีมอบอำนาจ)
สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ (กรณีมอบอำนาจ)
3. เข้าพบเจ้าหน้าที่ประเมินทุนทรัพย์ เพื่อคำนวณค่าธรรมเนียมการโอนบ้าน
เมื่อถึงคิว ให้ผู้โอนบ้าน(ผู้ขาย)และผู้รับโอนบ้าน(ผู้ซื้อ)เซ็นเอกสารต่อหน้าเจ้าหน้าที่ให้ครบถ้วน เจ้าหน้าที่จะประเมินทุนทรัพย์และคำนวณค่าธรรมเนียมการโอนบ้านครั้งนี้ โดยจะให้ใบประเมินแก่ผู้โอนบ้านและผู้รับโอนบ้าน เพื่อไปชำระค่าธรรมเนียมการโอนบ้านที่ฝ่ายการเงิน
4. ชำระค่าธรรมเนียมการโอนบ้าน
นำใบประเมินไปชำระค่าธรรมเนียมการโอนที่ฝ่ายการเงิน โดยค่าธรรมเนียมการโอนบ้าน เป็นไปตามข้อตกลงที่ผู้โอนบ้านและผู้รับโอนบ้านได้ตกลงกันไว้เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ขั้นตอนการเจรจาและตกลงซื้อขายบ้าน เมื่อชำระค่าธรรมเนียมการโอนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะได้รับใบเสร็จ 2 ใบ (สีเหลืองและสีฟ้า) ให้ โดยให้ผู้โอนบ้านและผู้รับโอนบ้านถ่ายสำเนาใบเสร็จสีฟ้าเก็บไว้ 1 ชุด แล้วนำใบเสร็จสีเหลืองไปคืนเจ้าหน้าที่ประเมินทุนทรัพย์ (ที่เราได้เซ็นเอกสารต่อหน้าในข้อที่ 3) เจ้าหน้าที่จะทำการพิมพ์สลักหลังโฉนดให้ในขั้นตอนต่อไป
5. รับโฉนดและสัญญาซื้อขาย (ท.ด.13)
เจ้าหน้าที่จะทำการพิมพ์สลักหลังโฉนดและมอบให้แก่ผู้โอนบ้านและผู้รับโอนบ้าน พร้อมกับสัญญาซื้อขาย ให้ผู้โอนตรวจสอบความถูกต้องและมอบโฉนดรวมถึงสัญญาการซื้อขายให้แก่ผู้ซื้อหรือผู้รับโอน ถือเป็นการเสร็จสิ้นขั้นตอนการโอนบ้าน ณ กรมที่ดิน
ขั้นตอนการโอนบ้าน ง่ายนิดเดียว อย่าลืมเผื่อเวลาในการเดินทางและคาดการณ์ผู้ใช้บริการ ณ กรมที่ดินที่ท่านไปใช้บริการกันด้วยนะคะ
ระยะเวลาการเปิดให้บริการ ณ กรมที่ดิน:
- วันจันทร์ ถึง วันศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดที่างราชการกำหนด) ตั้งแต่เวลา 8:30 – 16:30 น.