อัปเดตค่าธรรมเนียมการโอนบ้าน ปี 2567 พร้อมวิธีคำนวณ
ค่าธรรมเนียมการโอนบ้าน คอนโด คือ ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น เมื่อมีการทำธุรกรรมโอนบ้านหรือโอนคอนโด ณ กรมที่ดิน โดยจะมีรายละเอียดทั้งค่าธรรมเนียมการโอนบ้าน โอนกรรมสิทธิ์ ค่าภาษีเงินได้ ค่าอากร ค่าจดจำนอง ฯลฯ ทั้งนี้ ทางโครงการหมู่บ้านหรือทางโครงการคอนโด อาจจะมีข้อเสนอฟรีค่าใช้จ่ายในวันโอน เพื่อสร้างแรงดึงดูดใจและช่วยลดภาระให้กับกลุ่มผู้ซื้อ
ผู้ขายเตรียมเฮ ! ลดหย่อนค่าโอน-จดจำนองบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อเนื่อง จนถึง ธ.ค. 2567
มาตรการลดค่าโอน-จดจำนองปี 2567
- ลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 2% เหลือ 1%
- ค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1% เหลือ 0.01%
(เฉพาะการโอนและจดจำนองในคราวเดียวกัน) สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัย ได้แก่ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ และห้องชุด (ทั้งบ้านมือ 1 และมือ 2) เฉพาะที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท ต่อสัญญาโดยไม่รวมถึงกรณีการขายเฉพาะส่วน ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
ทั้งนี้การลดค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ครั้งนี้เป็นมาตรการต่อเนื่องจากปี2566 ที่กรมที่ดินได้ลดค่าธรรมเนียมให้แก่ประชาชนในอัตราเดียวกัน ซึ่งนอกจากจะเป็นการสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยของตนเอง แล้วยังเป็นการส่งเสริมการซื้อขายอสังหาริทรัพย์เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ รักษาระดับเศรษฐกิจในภาคอสังหาฯ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาฯ ให้เกิดความต่อเนื่องด้วย
ค่าใช้จ่าย หรือค่าธรรมเนียมที่ต้องเจอเมื่อทำการโอนบ้าน
1. ค่าธรรมเนียมการโอน
จะคำนวณโดยคิด 1% ของราคาประเมิน
เช่น ซื้อบ้านราคา 3 ล้านบาท แต่มีราคาประเมิน 2 ล้านบาท มีค่าธรรมเนียมการโอน 1% จะต้องเตรียมค่าธรรมเนียมในการโอนจำนวน 20,000 บาท
ซึ่งโดยปกติแล้วจะต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอน 2% ของราคาประเมิน จำนวน 40,000 บาท
จากการคำนวณ จะเห็นได้ว่ามาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนนี้ ทำให้เราเสียค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ลดลงได้ครึ่งหนึ่ง ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น
2. ค่าจดจำนอง
ค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ หรือ ค่าจดจำนอง จะเรียกเก็บเมื่อ ผู้ซื้อมีการซื้อบ้านหรืออสังหาอื่นๆ ด้วยการขอสินเชื่อจากธนาคาร (สำหรับผู้ที่ซื้อด้วยเงินสดจะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมนี้) โดยปกติจะคิดอัตรา 1% ของมูลค่าจำนอง แต่ในปี 2567 มีการปรับลดเป็น 0.01% ตามเงื่อนไข
โดยอัตราที่ปรับลดนี้ จะมีเงื่อนไข คือ
- เป็นบุคคลธรรมดา สัญชาติไทย
- ขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นมือหนึ่งหรือมือสอง ได้ทั้งบ้านเดี่ยว ห้องชุด บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์
- วงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท
- ต้องทำการโอนและจดจำนองในคราวเดียวกัน
เช่น ได้รับอนุมัติสินเชื่อบ้านวงเงิน 2 ล้านบาท เสียค่าจดจำนอง 200 บาท (คิดอัตราปรับลด 0.01% ของวงเงินอนุมัติสินเชื่อ) ซึ่งโดยปกติแล้วจะต้องเสียค่าจดจำนอง 1% ของวงเงินอนุมัติสินเชื่อ จำนวน 20,000 บาท
3. ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ
จะเรียกเก็บเมื่อผู้ขายเป็นบุคคลธรรมดาที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านต่อเนื่องไม่เกิน 1 ปี หรือถือครองอสังหาริมทรัพย์ไม่เกิน 5 ปี เสียในอัตรา 3.3% ของราคาซื้อ-ขายหรือราคาประเมิน (คิดจากราคาที่สูงกว่า)
ตัวอย่างการคำนวณ ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ
บ้านมีราคาประเมิน 2.5 ล้านบาท แต่ขายได้ 3.5 ล้านบาท จะยึดจากราคาขาย เพราะราคาสูงกว่า ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ ที่ต้องจ่ายจะมียอด 3,500,000 x 3.3% = 115,500 บาท
4. ค่าอากรแสตมป์
ร้อยละ 0.5% ของราคาซื้อ-ขายหรือราคาประเมิน (คิดจากราคาที่สูงกว่า) ในกรณีที่ผู้ขายต้องชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ ไม่ต้องชำระค่าอากรแสตมป์อีก
ตัวอย่างการคำนวณ ค่าอากรแสตมป์
บ้านมีราคาประเมิน 2.5 ล้านบาท แต่ราคาขาย 3.5 ล้านบาท จะยึดจากราคาขาย เพราะราคาสูงกว่า ค่าอากรแสตมป์ ที่ต้องจ่ายจะมียอด 3,500,000 x 0.5% = 17,500 บาท
5. ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เรียกเก็บตามหลักเกณฑ์ของกรมที่ดิน ขึ้นอยู่กับการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นและจำนวนปีที่ถือครอง
TIP ค่าธรรมเนียมการโอน จ่ายบัตรเครดิต ได้ไหม?
ปัจจุบัน กรมที่ดิน ได้เพิ่มช่องทางรับชำระค่าธรรมเนียมผ่านเครื่อง EDC ให้ชำระค่าธรรมเนียมที่ดินทางอิเล็กทรอนิกส์ 100% “ทุกสำนักงานทั่วไทย” ชำระง่าย ปลอดภัย ไม่ต้องใช้เงินสด โดยสามารถชำระค่าธรรมเนียมและภาษีอากรที่ดิน ด้วยบัตรเดบิต บัตรเครดิต หรือจะสแกนจ่าย QR CODE ผ่าน Mobile Banking ของทุกธนาคาร
ขอบคุณแหล่งที่มา ธนาคารอาคารสงเคราะห์